
วิธีเลือกโคมไฟระย้าให้เหมาะกับบ้าน พร้อมข้อควรระวังเมื่อติดตั้ง
สำหรับใครที่ชื่นชอบการตกแต่งบ้านแบบ Luxury รักในความสวยงาม หรูหรา คงไม่พลาดที่จะเลือกโคมไฟระย้า หรือแชนเดอร์เลียมาประดับไว้มุมใดมุมหนึ่งของบ้านอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะให้ความสว่างไสวแล้ว ยังเพิ่มความสวยงาม โอ่อ่า มีระดับให้บ้านได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสะท้อนรสนิยมของผู้อยู่อาศัยออกมาได้ดีอีกด้วย แต่หากคุณลองสังเกตจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันโคมไฟระย้ามีการดีไซน์หลายรูปแบบมากขึ้น ดังนั้นก่อนตกลงปลงใจเลือกโคมไฟระย้าเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของบ้าน… นอกจากความสวยงามในแง่ของงานดีไซน์และคุณสมบัติในการกระจายแสงแล้ว ยังต้องคำนึงถึงไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์การใช้งานได้จริง รวมถึงข้อจำกัดเรื่องสถานที่ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรแยกออกจากกัน
วันนี้เราขอพาคุณมาทำความรู้จักโคมไฟระย้าว่ามีกี่ประเภท วิธีการเลือกให้เข้ากับบรรยากาศและดีไซน์บ้าน รวมถึงข้อจำกัดในการติดตั้งจะเป็นอย่างไรบ้าง ตามไปดูกัน
ปัจจุบันโคมไฟระย้าถูกพัฒนาให้มีรูปแบบการดีไซน์และทำจากวัสดุที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับการตกแต่งบ้านตามสมัยนิยม ทำให้มีความสวยงามและทันสมัยเพิ่มขึ้นอีกด้วย ด้วยความหลากหลายในเรื่องของวัสดุและดีไซน์การจะจำแนกประเภทโคมไฟจึงอาจทำได้ยาก เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ง่ายในที่นี้เราขอแยกตามการออกแบบ ดังนี้
1. โคมไฟระย้าแบบ Classic เป็นโคมไฟระย้าในรูปแบบดั้งเดิมที่เน้นการออกแบบอย่างหรูหราสวยงาม มีความระยิบระยับ ส่วนใหญ่นิยมประดับตกแต่งด้วยเม็ดคริสตัลใส กระจก และแก้ว มีการออกแบบที่ซับซ้อนละเอียดอ่อน มักใช้ในสถานที่ที่มีลักษณะเป็นโถงขนาดใหญ่
2. โคมไฟระย้าแบบ Comtemporary หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าแบบร่วมสมัย เป็นการผสานแบบคลาสสิกเข้ากับความทันสมัยมากขึ้น ถูกลดความอลังการลงและเพิ่มความเรียบง่าย แต่ยังคงมีคริสตัลประดับอยู่เล็กน้อย อีกทั้งมีการนำวัสดุชนิดใหม่ๆ มาใช้มากขึ้น เช่น โครเมียม ทองเหลือง และแก้ว
3. โคมไฟระย้าแบบ Modern Classic เน้นให้มีความทันสมัยมากขึ้น และเพิ่มวัสดุชนิดอื่นๆ เข้ามาประดับตกแต่ง เช่น เหล็ก แก้วเป่า ผ้า หรือเขาสัตว์ เป็นการออกแบบที่เพิ่มความเรียบง่ายแต่ยังคงความสวยงามคลาสสิกแบบเดิมไว้
4. โคมไฟระย้าแบบ Modern ตกแต่งด้วยโคมน้อยลงแต่เน้นรูปทรงที่เรียบง่าย หรือรูปทรงเรขาคณิต ไม่มีคริสตัลและไม่มีความซับซ้อนในการออกแบบ เป็นสไตล์โมเดิร์นที่เน้นใช้งานตามบ้านสมัยใหม่ทั่วไป
การเลือกโคมไฟระย้าที่ไม่เข้ากับสไตล์ของบ้านไม่เพียงลดทอนความสวยงาม มีผลต่อบรรยากาศโดยรวม ยังอาจเกิดอันตรายได้หากติดตั้งไม่เหมาะสม ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อโคมไฟระย้ามาประดับตกแต่งบ้านจึงควรรู้เทคนิคเบื้องต้นก่อน เพราะในแต่ละพื้นที่ห้องต่างๆ ภายในบ้านมีขนาดและความต้องการแสงสว่างไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงควรเลือกซื้อให้สัมพันธ์กับพื้นที่ใช้งาน
1. ห้องรับแขก
เริ่มกันที่ห้องรับแขกที่ต้องใช้ต้อนรับผู้มาเยือนอยู่เสมอ ควรเป็นห้องที่มีความสวยงามและสะท้อนรสนิยมเจ้าของบ้านได้ดีที่สุด จึงควรเลือกโคมไฟระย้าแบบคลาสสิกที่มีการออกแบบและตกแต่งด้วยคริสตัลหรูหรา ตัวช่วยชั้นยอดในการเพิ่มมิติ เติมบรรยากาศหรูหราแบบมีสไตล์ มีความแวววับเมื่อกระทบแสงไฟ ควรเลือกสีเหลืองนวลที่ให้แสงสว่างละมุนตา สำหรับการติดตั้งควรพิจารณาความสูงของเพดานภายในห้องเป็นอันดับแรก และควรติดตั้งโคมไฟให้ห่างจากพื้นประมาณ 7 ฟุต อีกทั้งต้องอยู่ในตำแหน่งที่ให้แสงสว่างได้ตามความต้องการใช้งาน
2. ห้องรับประทานอาหาร
ห้องรับประทานอาหารเป็นห้องที่ต้องการแสงสว่างในปริมาณมาก เพราะต้องใช้งานในหลายโอกาส ทั้งสำหรับการรับประทานอาหาร เป็นพื้นที่จัดปาร์ตี้สังสรรค์ เรียกได้ว่ามีแขกไปมาอยู่เสมอ
จึงควรเลือกโคมไฟระย้าที่มีการออกแบบตกแต่งที่ให้แสงสว่างได้ดีและมีขนาดสมดุลกับโต๊ะอาหาร อาจเป็นแบบโมเดิร์นคลาสสิก หรือแบบร่วมสมัยโดยแนะนำให้เลือกแบบที่ยังมีความหรูหราอยู่ แต่ควรน้อยลงจากห้องรับแขกและที่สำคัญควรติดตั้งในระดับความสูงจากพื้นโต๊ะประมาณ 30-60 นิ้ว เพื่อให้ได้ระดับแสงสว่างที่เหมาะสม ไม่รบกวนสายตาของผู้ใช้โต๊ะรับประทานอาหาร
3. ห้องนอน
ห้องนอนควรเลือกโคมไฟที่เน้นให้แสงสีเหลืองนวลละมุนตา ช่วยส่งเสริมการนอนหลับที่ดี และควรติดตั้งในระยะห่างจากฐานโคมไฟถึงพื้นห้องประมาณ 7 ฟุต เพื่อให้ได้ระดับแสงสว่างและตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่ควรติดไว้ตรงกับตำแหน่งกลางเตียงนอน เพราะผู้นอนจะรู้สึกไม่ปลอดภัยเสมือนมีวัตถุพร้อมพุ่งลงมาตลอดเวลา อาจติดไว้ที่ตำแหน่งค่อนไปทางปลายเตียง หรือทำฝ้าหลุมมารองรับการติดตั้งโคมไฟระย้าโดยเฉพาะก็จะช่วยเพิ่มมิติให้ดูสวยงามมากขึ้น
4. ห้องน้ำ
ในปัจจุบันเราสามารถประยุกต์โคมไฟระย้ามาติดในห้องน้ำด้วยเช่นกัน เพราะช่วยเพิ่มความสวยงาม หรูหรา เปลี่ยนบรรยากาศห้องน้ำให้ผ่อนคลายขึ้น ส่วนใหญ่มักถูกใช้งานร่วมกับห้องน้ำที่ตกแต่งด้วยหินอ่อน โดยตำแหน่งการติดตั้งอาจเลือกในบริเวณที่แห้ง ไม่โดนน้ำได้ง่าย และควรเลือกขนาดให้เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งการติดโคมไฟระย้าสำหรับห้องน้ำควรแขวนเพดานในระดับความสูง 8 ฟุต ในระยะเหนืออ่างอาบน้ำขึ้นไป โดยวัดจากขอบอ่างไปถึงฐานของโคมไฟ เพื่อป้องกันการโดนน้ำและสามารถกระจายแสงสว่างได้ดี
ข้อควรคำนึงเมื่อติดตั้งโคมไฟระย้า
น้ำหนักของโคมไฟกับเพดานบ้าน
การเลือกโคมไฟระย้าให้สมดุลกับความแข็งแรงของเพดานเป็นสิ่งสำคัญมาก ก่อนติดตั้งจึงควรแน่ใจว่าเพดานสามารถรองรับน้ำหนักโคมไฟได้ เพราะโคมไฟระย้าบางชนิดมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก หากเพดานไม่แข็งแรงพอจะรับน้ำหนักก็อาจจะถล่มลงมาได้ โดยทั่วไปแล้วเพดานจะต้องเผื่อการรับน้ำหนักของโคมไฟไว้ไม่ต่ำกว่า 30% ซึ่งในบ้านยุคใหม่ส่วนใหญ่มักจะทำเผื่อไว้แล้ว
ตำแหน่งในการติดตั้ง
ควรติดตั้งในบริเวณที่ไม่มีกระแสลมพัดผ่าน และไม่ควรติดตั้งใกล้แอร์หรือพัดลม เพราะลมอาจทำให้วัสดุบางชนิด เช่น เม็ดคริสตัลเคลื่อนไหวกระทบกัน ก่อให้เกิดความเสียหาย สร้างความรำคาญ หรือแตกเสียหายเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยได้
ขนาดของห้อง
ขนาดของห้องเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการตัดสินใจเลือกขนาดของโคมไฟระย้าด้วยเช่นกัน
ควรเลือกให้สมดุลกันจะได้บรรยากาศและความสวยงามตามที่ตั้งใจไว้ เพราะหากห้องกว้างและเพดานสูง แต่เลือกโคมไฟที่มีขนาดเล็กเกินไปก็อาจทำให้มองไม่เห็นโคมไฟ หรืออาจทำลายบรรยากาศห้องไปเลยก็ได้ ดังนั้น การเลือกขนาดโคมไฟให้ได้สัดส่วนที่ลงตัวกับห้อง จะช่วยเสริมองค์ประกอบส่วนอื่นๆ ให้สวยงามกลมกลืนไปด้วยกันได้
การทำความสะอาด
ต้องยอมรับว่าหากคุณเลือกความสวยงาม หรูหรา ของบ้าน คงหลีกเลี่ยงไม่ได้กับวิธีทำความสะอาดที่ยากลำบากเพิ่มขึ้นอีก เพราะโคมไฟระย้ามีการออกแบบที่ซับซ้อนละเอียดอ่อน อีกทั้งเม็ดคริสตัลที่มีหลายขนาด ที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการทำความสะอาดมาก จนอาจไปถึงการว่าจ้างบริษัทรับทำความสะอาดโคมไฟระย้าโดยเฉพาะก็ได้ โดยปกติมักจะทำความสะอาดเพียง 1-2 ครั้งต่อปีเท่านั้น
หากคุณมั่นใจแล้วว่าบ้านของคุณต้องมีโคมไฟระย้าประดับอยู่บนเพดานสักห้องใดห้องหนึ่งแล้ว ลองพิจารณาคำแนะนำที่เรานำมาฝากกันก่อน เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกและการติดตั้งที่ดีที่สุด รวมถึงป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น เพียงแค่นี้ก็มั่นใจได้แล้วว่าโคมไฟที่จะเข้ามาอยู่ในบ้านคุณจะส่งเสริมบรรยากาศภายในให้หรูหรา สง่างาม โอ่อ่า ได้ดั่งใจแน่นอน
อ่านสาระเรื่องบ้าน ไอเดียแต่งบ้าน เพิ่มเติมได้ที่ LH LIVING TIPS ไอเดียแต่งบ้าน แนวคิดเพื่อการอยู่อาศัย
ขอบคุณภาพประกอบจาก บ้านนันทวัน , บ้านมัณฑนา , บ้านคู่ anya