ปรับห้องน้ำผู้สูงอายุแบบปลอดภัย

ห้องน้ำผู้สูงวัยต้องจัดอย่างไรให้เหมาะสมและปลอดภัย

บ้านที่ดีต้องเป็นมิตรกับคนทุกวัย โดยเฉพาะบ้านไหนที่มีทั้งเด็กและผู้สูงอายุอยู่ภายในบ้าน ต้องยิ่งให้ความใส่ใจกับพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านเป็นพิเศษ โดยเฉพาะภายในห้องน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ดังนั้นการจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสมและเป็นมิตรกับทุกคน จะช่วยลดทั้งความเสี่ยงและเหตุไม่คาดคิดได้มากมายเลยทีเดียว 

    สำหรับผู้ที่กำลังคิดอยากปรับปรุงห้องน้ำ เพื่อให้เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงวัย จะต้องให้ความสำคัญตรงส่วนไหนบ้าง ลองไปดูพร้อมๆ กันเลย

จัดห้องน้ำผู้สูงวัยอย่างไรห้องน้ำสำหรับผู้สูงวัย


ขนาดที่เหมาะสมของห้องน้ำ

ความกว้างของห้องน้ำควรกว้างอย่างน้อย 1.5x2 เมตร ไม่ควรมีขนาดแคบจนเกินไปเพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวของผู้สูงวัยเป็นไปด้วยความสะดวก พื้นห้องน้ำควรมีระดับเดียวและแยกส่วนเปียกส่วนแห้งอย่างชัดเจน ภายในห้องน้ำต้องมีราวจับเพื่อช่วยในการทรงตัวขนาดประตูไม่ควรกว้างน้อยกว่า 90 ซม. โดยใช้แบบบานเลื่อน ไม่มีธรณีประตู เพื่อลดการใช้แรงและป้องกันการสะดุดล้ม 

วัสดุปูพื้น

    การเลือกวัสดุปูพื้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุอย่างการล้ม มักเกิดจากการลื่นภายในห้องน้ำ ดังนั้นจึงต้องเลือกวัสดุปูพื้นที่เหมาะสม โดยควรดูจากค่าความเสียดทานบนผิวหน้ากระเบื้อง หรือ ค่า R และถ้าหากวัสดุนั้นมีคุณสมบัติที่ช่วยลดแรงกระแทกได้ด้วย ก็จะยิ่งช่วยลดความรุนแรงของการลื่นล้มได้มากขึ้น โดยค่าความเสียดทานที่เหมาะสมคือ

  • R9 สำหรับพื้นที่ภายใน เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องนอน เป็นต้น

  • R10 สำหรับพื้นที่เปียกน้ำ เช่น ห้องน้ำ เป็นต้น

  • R11 สำหรับพื้นที่ภายนอกอาคาร


เพิ่มอุปกรณ์พิเศษสำหรับผู้สูงอายุ

    ควรติดตั้งอุปกรณ์เสริมในห้องน้ำเพื่อการใช้งานที่สะดวกปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่

  • Support Arm ราวจับช่วยพยุงในการลุก-นั่ง ควรมีด้ามจับขนาดใหญ่ ยึดติดกับผนังอย่างมั่นคงแข็งแรง ไม่ควรมีเหลี่ยมมุม และติดตั้งในจุดที่ต้องมีการลุกนั่งประจำ เช่น พื้นที่อาบน้ำหรือบริเวณชักโครก

  • Hand Rails มือจับสำหรับการยึด มือจับจะมีขนาดสั้นกว่าราวจับ ใช้ติดตั้งในจุดที่จำเป็นต้องใช้การประคองหรือจับเพื่อให้ยืนได้มั่นคง


ที่นั่งอาบน้ำสำหรับผู้สูงวัย

ที่นั่งในห้องน้ำสำหรับผู้สูงวัย


  • Shower Seat เก้าอี้นั่งอาบน้ำ ติดตั้งในบริเวณที่อาบน้ำ ควรเลือกที่รับกับสรีระ มั่นคง ไม่ลื่น รับน้ำหนักได้ และสามารถปรับระดับความสูงได้


โถสุขภัณฑ์สำหรับผู้สูงวัย

โถสุขภัณฑ์สำหรับผู้สูงวัย

โถสุขภัณฑ์

    สุขภัณฑ์ควรมีความสูงประมาณ 40-45 ซม. หรือเป็นชักโครกขนาด 16-18 นิ้ว โดยวัดความสูงจากระดับพื้นห้องน้ำถึงฝารองนั่งด้านล่าง ซึ่งเป็นระยะที่พอดีความสูงของเก้าอี้วีลแชร์ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองจากวีลแชร์ได้อย่างสะดวก


ห้องน้ำสำหรับผู้สูงวัย

ห้องน้ำสำหรับผู้สูงวัย



อุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน

    เพื่อความปลอดภัยหรือมีความเสี่ยงที่จะอุบัติเหตุในห้องน้ำ ควรติดตั้งอุปกรณ์ขอความช่วยเหลือภายในห้องน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ปุ่มฉุกเฉิน โดยตำแหน่งที่ติดตั้ง ซึ่งควรอยู่ในระยะที่ผู้สูงอายุสามารถเอื้อมถึงได้สะดวก หรือติดตั้งที่ความสูงประมาณ 25 ซม.และ 95 ซม. จากพื้นห้องน้ำ นอกนั้นอาจติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวได้ด้วย 


จัดห้องน้ำผู้สูงวัยอย่างปลอดภัย

จัดห้องน้ำผู้สูงวัยอย่างปลอดภัย


อุปกรณ์อื่นๆ ภายในห้องน้ำ

ก๊อกน้ำ - ควรเลือกก๊อกน้ำแบบก้านโยกหรือแบบเซ็นเซอร์ เพราะจะใช้แรงน้อยกว่ารูปแบบอื่น 

อ่างล้างมือ - ควรติดตั้งอ่างล้างมือสูงจากพื้นประมาณ 75 ซม. เพื่อให้ได้ระยะที่เหมาะสมสำหรับการใช้วีลแชร์ และไม่ควรเลือกอ่างล้างมือแบบเหลี่ยม เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

ไฟส่องสว่าง - แสงสว่างภายในห้องควรมากพอเพื่อให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนและลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ โดยควรใช้แสงสีขาวที่เป็นธรรมชาติ หลีกเลี่ยงแสงไฟสีส้ม 


เพียงเท่านี้ห้องน้ำก็จะเป็นห้องที่มีความสะดวกสบาย และปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุ

เรื่องสำคัญเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 

อ่านบทความเกี่ยวกับไอเดียแต่งบ้านอื่นๆ คลิก https://www.lh.co.th/th/lh-living-concept/living 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ