
รวมวิธีแก้ปัญหาน้ำแอร์หยด จัดการได้ง่ายๆ ก่อนเรียกช่าง
เชื่อว่าหลายๆ บ้านมักจะพบเจอปัญหากวนใจที่มากับแอร์อยู่บ่อยครั้ง หนึ่งในนั้นคือปัญหาแอร์ไม่เย็น วิธีประหยัดแอร์ในบ้าน แต่เย็นสบายเหมือนเดิม จึงเป็นอีกทางออกให้คุณเอาชนะค่าไฟในหน้าร้อนได้ แต่ปัญหาที่แก้ไม่ตกโดยเฉพาะ “ปัญหาน้ำแอร์หยด” หลายครั้งต้องทนนอนในสภาพอากาศร้อนอบอ้าวกว่าช่างจะมาถึง ต้องนอนฟังเสียงน้ำแอร์หยดทั้งคืน แถมยังเสี่ยงกระแสไฟฟ้ารั่ว ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สินได้
แต่รู้หรือไม่ว่าบางสาเหตุของปัญหาน้ำแอร์หยด สามารถตรวจเช็กในเบื้องต้นหรือแก้ไขได้ก่อนที่จะเรียกช่าง ซึ่งอาจทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเรียกใช้บริการช่างแอร์ไปเลยก็ได้ ดังนั้นก่อนที่จะไปแปลงร่างเป็นช่างแอร์ชั่วคราว วันนี้เรามาทำความเข้าใจแอร์ในบ้านของเราให้มากขึ้นกันดีกว่า รวมถึงมีวิธีไหนบ้างที่สามารถแก้ไขปัญหาแอร์น้ำหยดได้ตามไปดูกัน
น้ำแอร์หยด เกิดจากสาเหตุใด?
น้ำแอร์หยดเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่ทุกคนต้องเคยพบเจออย่างแน่นอน และยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แอร์ไม่เย็น มากกว่านั้นอาจทำให้ระบบภายในของเครื่องเกิดความเสียหายตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นแอร์เก่าหรือแอร์ใหม่ก็สามารถพบปัญหาแบบนี้ได้เหมือนกัน ซึ่งสาเหตุของปัญหาน้ำแอร์หยดมาจากหลายปัจจัย มาเช็กไปพร้อมๆ กันดีกว่ากันว่ามีอะไรบ้าง
1. แผ่นกรองอากาศไม่สะอาด
สาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาน้ำแอร์หยดเกิดจากแผ่นกรองสกปรก อุดตัน เนื่องจากขาดการล้างแอร์อย่างสม่ำเสมอ (ซึ่งควรจะทำความสะอาดอย่างน้อยทุกๆ 3-6 เดือน) ซึ่งเมื่อแผ่นกรองอากาศไม่ได้รับการทำความสะอาดจึงส่งผลให้เกิดการอุดตัน ไม่สามารถระบายความเย็นออกมาได้ จึงทำให้น้ำจับตัวกันเป็นน้ำแข็ง เมื่อละลายจึงหยดลงมานอกตัวแอร์ ซึ่งจุดนี้เองอาจทำให้เกิดความเสียหายระยะยาวได้โดยที่เราคาดไม่ถึง
2. ตำแหน่งติดตั้งไม่เหมาะสม ไม่ได้มาตรฐาน
การติดตั้งแอร์ในบริเวณที่ไม่เหมาะสมเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำแอร์หยด เพราะในบางครั้งพื้นที่บ้านไม่เอื้ออำนวยให้ติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้ามากนัก จึงอาจเกิดการติดตั้งที่ไม่เหมาะสมขึ้น เช่น ติดตั้งเอียง ทำให้น้ำทิ้งระบายออกไม่สะดวก เกิดเป็นน้ำขัง อย่างไรก็ตาม ควรเลือกบริเวณที่พ้นแสงแดดและลม อยู่ในพื้นที่ราบไม่ติดตั้งเอียงหรือเอนไปทางใดทางหนึ่งจะดีกว่า
3. ท่อน้ำทิ้งอุดตัน
การเกิดท่อน้ำทิ้งอุดตันเป็นอีกสาเหตุที่เกิดจากความละเลยในการล้างแอร์ ซึ่งโดยปกติเมื่อมีการใช้งานแอร์เป็นเวลานานย่อมเกิดการสะสมของฝุ่นอยู่แล้ว เมื่อเกิดการสะสมมากขึ้นก็จะไหลไปรวมตัวกันที่ท่อน้ำทิ้งจนเกิดการอุดตัน ทำให้น้ำในแอร์ไหลย้อนกลับเพราะผ่านท่อน้ำทิ้งไม่ได้
4. มีรอยรั่วซึม หรือแตกหัก
ควรหมั่นตรวจสอบภายในตัวเครื่องแอร์อยู่สม่ำเสมอ เพราะถาดน้ำทิ้งอาจเคลื่อนที่หรือใส่ไม่ตรงตำแหน่งจึงทำให้เกิดน้ำหยดได้ง่ายๆ ซึ่งในเคสนี้สามารถจัดวางให้เข้าที่ได้ด้วยตัวเอง แต่หากถาดน้ำทิ้ง ท่อน้ำ หรือส่วนใดเกิดการแตกหัก ในกรณีนี้จำเป็นต้องเรียกช่างมาดูและซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน
5. น้ำยาแอร์น้อยเกินไป
การไม่ตรวจเช็กแอร์สม่ำเสมอเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำยาแอร์เหลือน้อยเกินไป เมื่อน้ำยาแอร์ที่เป็นสารทำความเย็นเหลือไม่เพียงพอ จะส่งผลทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักตลอดเวลา เนื่องจากต้องรักษาอุณหภูมิภายในห้องให้เย็น ผลที่ตามมาคืออาจทำให้เครื่องรวน เกิดความดันของอากาศและอุณหภูมิภายในที่ไม่สมดุล ควบแน่นกลายเป็นน้ำแอร์หยดลงมานั่นเอง ซึ่งเราสามารถสังเกตปริมาณน้ำยาแอร์ได้ง่ายๆ จากอุณหภูมิของห้อง หากเปิดแอร์แล้วไม่เย็นเท่าเดิมแสดงว่าน้ำยาแอร์ลดลง หรือถ้าน้ำยาแอร์ลดลงเร็วผิดปกติลองตรวจสอบว่าเกิดการรั่วซึมของน้ำยาแอร์หรือไม่
น้ำแอร์หยดอันตรายไหม?
หากเปิดใช้งานแอร์ที่มีน้ำหยดออกมาอันตรายไหม? สำหรับใครที่เปิดแอร์ทิ้งไว้แล้วปล่อยให้น้ำหยดนั้นเป็นวิธีที่ผิดมากๆ เพราะจะทำให้บริเวณที่น้ำขัง เช่น ถาดน้ำทิ้ง หรือท่อน้ำเกิดเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้ นอกจากนั้นอาจทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ไฟรั่ว และยังอาจทำให้ภายในตัวเครื่องเป็นสนิม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้แอร์เสื่อมสภาพก่อนอายุการใช้งานจริงที่ควรจะเป็นอีกด้วย ทางที่ดีควรล้างแอร์อย่างสม่ำเสมอและเรียกช่างมาซ่อมแซมให้เร็วที่สุดเมื่อเกิดปัญหา
วิธีแก้ปัญหาน้ำแอร์หยดก่อนเรียกช่าง
ก่อนจะเรียกช่างแอร์มาที่บ้าน เราสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นของแอร์น้ำหยดได้ด้วยวิธีการสังเกตแบบง่ายๆ ดังนี้
1. มีน้ำหยดลงมาจากช่องปล่อยลมแอร์
วิธีเช็กเบื้องต้น : เช็กท่อน้ำว่ามีการอุดตันหรือไม่ และลองถอดถาดน้ำทิ้งออกมาตรวจสอบดูว่ามีการแตก หัก รั่ว หรือเคลื่อนที่ไหม หากถาดน้ำทิ้งเคลื่อนที่สามารถแก้ได้ด้วยตัวเองโดยการวางให้ถูกจุด แต่ถ้าแตกหักต้องเรียกช่างเข้ามาซ่อมแซมแก้ไขหรือเปลี่ยนถาดใหม่
2. มีไอน้ำเกาะตามที่ครอบแอร์ด้านนอก
วิธีเช็กเบื้องต้น : อาการแบบนี้อาจเกิดจากการติดตั้งท่อแอร์ที่ผิดพลาดตั้งแต่แรก ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนน้ำยาแอร์ ทำให้เกิดไอน้ำเกาะภายนอก
3. มีน้ำหยดด้านซ้ายสุด หรือขวาสุดของตัวแอร์
วิธีเช็กเบื้องต้น : ในกรณีที่น้ำแอร์หยดด้านริมสุดของตัวแอร์อาจมาจากถาดน้ำทิ้งเคลื่อนที่หรือใส่ถาดไม่แน่น
4. มีน้ำหยดบริเวณท่อน้ำแอร์
วิธีเช็กเบื้องต้น : มีน้ำหยดบริเวณท่อน้ำยาแอร์จากการควบแน่นของไอน้ำบริเวณท่อแอร์ หากสังเกตเห็นว่ามีน้ำหยดบริเวณท่อแอร์สามารถแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มความหนาของวัสดุที่หุ้มท่อแอร์ให้หนาขึ้น
การมีความรู้และข้อมูลเรื่องแอร์ในเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น เสมือนคู่มือสามัญประจำบ้านที่ช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาแอร์ได้ในบางเรื่องโดยไม่ต้องพึ่งช่างอย่างเดียว แต่หากเกิดปัญหาใหญ่เกินความสามารถของตัวเอง แนะนำให้เรียกช่างเทคนิคที่มีความชำนาญเข้ามาตรวจเช็กความเสียหายและซ่อมแซมตามอาการจะดีกว่า อีกทั้งอย่าลืมให้ความสำคัญกับการตรวจสอบสภาพแอร์อย่างสม่ำเสมอด้วยตนเอง อาทิ ระดับน้ำยาแอร์ ถาดน้ำทิ้ง ท่อน้ำทิ้ง การถอดล้างแผ่นกรองอากาศ เพราะจุดสำคัญเหล่านี้สามารถยืดอายุการใช้งานแอร์ของเราออกไปได้อีกนาน
ติดตามเคล็ดลับเพิ่มเติมเพื่อการอยู่อาศัยที่ดีขึ้นได้ที่ https://www.lh.co.th/th/lh-living-concept/living
ขอบคุณภาพประกอบจาก โครงการ NANTAWAN , สีวลี ศรีนครินทร์-ร่มเกล้า และคอนโด แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์