วิธีการเลือกหลอดไฟในบ้าน ประหยัดเเละเหมาะสมกับการใช้งาน

ทริคเลือกหลอดไฟบ้าน แบบไหนอย่างไรให้ประหยัดเเละเหมาะสมกับการใช้งาน

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์ไปเลือกซื้อหลอดไฟบ้านที่ห้างสรรพสินค้าหรือตามร้านค้าต่างๆ แต่ไม่รู้ว่าควรเลือกอย่างไร มองไปที่ชั้นก็มีให้เลือกหลายแบบเต็มไปหมด เกิดอาการสับสน เลือกไม่ถูกว่าจะซื้ออันไหนดี หลายท่านก็เลยใช้วิธีสุ่มเลือกซื้อหลอดไฟโดยดูที่ราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้เราได้หลอดไฟบ้านที่ไม่ได้เหมาะกับลักษณะการใช้งานที่เราต้องการจริงๆ ก็เป็นได้
  

เลือกหลอดไฟใช้ในบ้าน


การเลือกหลอดไฟให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานนั้นมีความสำคัญมาก โดยบทความนี้จะพามาดูวิธีการเลือกซื้อหลอดไฟบ้านที่เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละประเภท โดยเป็นวิธีแบบง่ายๆ ที่คุณสามารถอ่านแล้วทำตามได้เองในทันที ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับประเภทของหลอดไฟ และดูว่าหลอดไฟแต่ละประเภทเหมาะกับการใช้งานแบบไหนกันก่อน


วิธีการเลือกหลอดไฟในบ้าน


วิธีการเลือกหลอดไฟในบ้าน

หลอดไฟที่นิยมใช้งานกันในบ้านเรือนทั่วไปยุคปัจจุบันมีอยู่หลายประเภท แต่ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย และสามารถหาซื้อได้ง่ายนั้นมีอยู่ 5 ประเภทด้วยกัน ได้แก่


หลอด LED


1. หลอดไฟ LED

เป็นประเภทของหลอดไฟที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีในการผลิตหลอดไฟ LED ยุคปัจจุบันทำให้มีคุณสมบัติเหมาะกับการใช้งานในบ้าน ออฟฟิศ ร้านค้า หรือเกือบทุกสถานที่ เพราะหลอดไฟ LED ใช้พลังงานไม่มากแต่ให้ความสว่างได้ดีจึงทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้า มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และยังมีโทนสีให้เลือกหลากหลาย เมื่อใช้ไปนานตัวหลอดไฟก็ไม่มีความร้อนมากจนเกินไปนัก หลอดไฟ LED มีทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ให้เลือกตามความต้องการ จึงเป็นหลอดไฟประเภทแรกๆ ที่คนในยุคปัจจุบันนิยมเลือกใช้กัน


หลอดฟลูออเรสเซนต์


2. หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์

หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดไฟนีออน เป็นหลอดไฟบ้านที่เคยได้รับความนิยมมากที่สุด ก่อนจะถึงยุคของหลอดไฟ LED ปัจจุบันก็ยังคงมีการใช้งานกันอยู่ ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแทนที่หลอดไส้ ลักษณะจะเป็นทรงหลอดยาวๆ สามารถให้ความสว่างได้มากกว่าหลอดไส้และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าหลอดไฟยุคเก่าๆ มีสีโทนขาว เหมาะกับการให้ความสว่างแบบวงกว้าง แต่ข้อเสียคือมักจะมีขนาดยาว ทำให้เวลาเสียแล้วเปลี่ยนจะค่อนข้างลำบาก

หลอดตะเกียบ

3. หลอดตะเกียบ

เป็นหลอดไฟที่ช่วยประหยัดพลังงานหรือที่คนนิยมเรียกกันโดยทั่วไปหลอดประหยัดไฟ หน้าตาจะเป็นหลอดตะเกียบ 2 อันประกบกัน มีขนาดที่เล็กกว่า กินพลังงานน้อยกว่าช่วยประหยัดค่าไฟได้เป็นอย่างมาก



หลอดไส้


4. หลอดไส้

เป็นหลอดไฟบ้านที่มีประวัติการใช้งานมาอย่างยาวนาน การทำงานของหลอดไส้จะเป็นการเปลี่ยนความร้อนให้กลายเป็นแสงสว่าง ใช้พลังงานค่อนข้างมาก จึงไม่ได้รับความนิยมแล้วในปัจจุบัน แต่สิ่งที่อาจจะเป็นจุดเด่นคือโทนสีเหลืองอมส้มที่เหมือนกับการจุดเทียนทำให้หลอดไส้ยังคงมีการใช้งานกันอยู่บ้าง โดยนำไปใช้ในการตกแต่ง เช่น การตกแต่งร้านอาหาร การตกแต่งบ้านให้ดูคลาสสิก หรือการตกแต่งงานในสวน ด้วยการให้โทนสีแบบวินเทจ เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ต้องนึกถึงหลอดไส้เป็นอันดับแรก


หลอดไฟเส้นนีออน


5. หลอดไฟนีออนเส้น

อีกหนึ่งประเภทที่เราเห็นกันมากขึ้นคือไฟนีออนแบบเส้น ลักษณะจะเป็นหลอดไฟที่เป็นเส้น สามารถดัดโค้งงอเพื่อตกแต่งได้ตามต้องการ เหมาะกับการตกแต่งมากกว่าการให้ความสว่าง


การเลือกโทนสีของหลอดไฟ

โทนสีของหลอดไฟจะเป็นตัวกำหนดอุณภูมิของห้อง ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยในห้อง นอกจากนี้โทนสีของหลอดไฟแต่ละโทนยังเหมาะกับการใช้งานในแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป เราไปทำความรู้จักโทนสีแต่ละแบบและความเหมาะสมในการใช้งานในสถานการณ์ต่างๆ

  1. โทนสีขาว (White) ให้แสงสีขาวอมเหลือง ให้ความสว่างได้มากเมื่อเทียบกับโทนสีอื่นๆ เหมาะกับใช้สำหรับอ่านหนังสือ และในห้องต่างๆของบ้านที่ต้องการความสว่าง

  2. โทนสีขาวธรรมชาติ (Natural white) เป็นโทนสีของหลอดไฟที่พยายามเลียนสีของธรรมชาติให้มากที่สุด ใช้ในการให้ความสว่างทั่วๆไปเช่น การใช้ในห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร 

  3. โทนสีเหลือง (Warm white) เป็นสีโทนร้อนที่ทำให้รู้สึกว่ามีอุณหภูมิร้อนขึ้นมา เหมาะกับการเปิดไฟเพื่อทำให้ห้องดูอบอุ่น รวมถึงสร้างความรู้สึกผ่อนคลายให้กับผู้อยู่อาศัย สบายสายตา

  4. โทนสีขาวอมฟ้า (Cool) เป็นสีโทนร้อนที่ทำให้รู้สึกว่ามีอุณหภูมิเย็น เหมาะกับการเปิดไฟเพื่อนั่งทำงานนานๆ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในห้องน้ำ และบริเวณที่ต้องการความสว่างมากได้อีกด้วย

  5. หลอดไฟหลากสี นอกจากสีโทนธรรมชาติ ขาว-เหลือง แล้ว หลอดไฟในยุคปัจจุบันยังมีการพัฒนาโทนสีที่หลากหลายรองรับกับการตกแต่งบ้าน เช่น สีม่วง สีฟ้า สีแดง สีเขียว และอีกหลากหลายสี ทำให้เราสามารถแต่งบ้านโดยใช้สีที่หลากหลาย และหลอดไฟบ้านในยุคปัจจุบันหลายๆ รุ่นยังมาพร้อมกับลูกเล่นในการปรับสีโดยการเชื่อมต่อเข้ากับ Smartphone แล้วปรับสีใน Application ได้ ทำให้เราได้หลอดไฟที่มีโทนสีหลายสีในหลอดเดียว


เลือกหลอดไฟประหยัด


เลือกหลอดไฟแบบที่ประหยัดค่าไฟ

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่าหลอดประหยัดไฟกันมาบ้าง คนรุ่นใหม่เวลาไปเลือกซื้อหลอดไฟอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อหลอดที่เป็นหลอดประหยัดไฟมากนัก เมื่อเทียบกับการซื้อหลอดไฟในอดีตที่คนรุ่นก่อนมักจะเลือกซื้อหลอดไฟที่มีคุณสมบัติประหยัดไฟ สาเหตุหนึ่งก็เพราะปัจจุบันหลอดไฟหลายรุ่นถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยแนวคิดของการประหยัดไฟอยู่แล้ว ต่างจากในอดีตที่เทคโนโลยีการประหยัดไฟยังจำกัดอยู่เฉพาะในบางรุ่นเท่านั้น หลอดประหยัดไฟในอดีตจึงมีราคาที่ค่อนข้างสูง เทียบกับในปัจจุบันที่หลอดไฟหลายรุ่นนอกจากจะมีราคาไม่แพงแล้ว ยังมาพร้อมกับคุณสมบัติการประหยัดไฟตั้งแต่แรกเลย


หลอดไฟประหยัดสำหรับบ้าน

หลอดประหยัดไฟ คือ หลอดไฟที่สามารถให้ความสว่างได้เท่ากัน หรือใกล้เคียงกัน โดยใช้พลังงานที่น้อยกว่า ย้อนกลับไปในอดีตหลอดไฟที่ได้รับความนิยมใช้กันมากที่สุดคือหลอดไส้ ให้แสงสว่างได้ดี หาซื้อได้ง่าย แต่ข้อเสียคือความร้อนที่มากทำให้อายุการใช้งานสั้น และกินไฟค่อนข้างมากเนื่องจากใช้พลังงานสูง จึงมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นหลอดตะเกียบที่กินพลังงานน้อยกว่า ปัจจุบันหลอดไฟ LED มีคุณสมบัติที่ประหยัดไฟในขณะที่ให้แสงสว่างได้เป็นอย่างดี หลอดไฟ LED จึงได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน


วิธีดูว่าหลอดไฟรุ่นนั้นประหยัดไฟหรือไม่ให้ดูจาก

  • ฉลากเบอร์ 5 สำหรับวิธีการดูหลอดไฟง่ายๆที่ไม่อยากปวดหัวคือการเลือกหลอดไฟที่มีฉลากเบอร์ 5 เพราะผ่านมาตรฐานในการประหยัดไฟ 

  • ผ่านมาตรฐาน มอก. นอกจากมีฉลากเบอร์ 5 แล้ว การเลือกหลอดไฟที่ผ่านมาตรฐาน มอก. มีความสำคัญมากๆเพราะแสดงถึงมาตรฐานของหลอดไฟนั้นๆว่ามีคุณภาพ สามารถใช้งานได้นาน มีอายุการใช้งานที่นาน ไม่เกิดปัญหาระหว่างการใช้งาน


ประหยัดไฟเบอร์ 5 ขอบคุณภาพจาก https://labelno5.egat.co.th


สรุปการเลือกซื้อหลอดไฟได้ใน 3 ขั้นตอน ที่เราสามารถทำตามได้ง่ายๆ ก็คือ

  1. เลือกประเภทหลอดไฟที่เหมาะสมกับการใช้งาน

  2. เลือกซื้อหลอดไฟที่มีโทนสีตรงกับความชอบหรือจุดประสงค์ในการนำไปใช้

  3. เลือกซื้อหลอดไฟที่ประหยัดไฟ ในขณะที่ให้ความสว่างได้ดี


ติดตามไอเดีย Livingtips อื่นๆ ได้ที่ https://www.lh.co.th/th/lh-living-concept/living

ขอบคุณภาพประกอบจากโครงการ มัณฑนา Westgate , สีวลี ศรีนครินทร์ - ร่มเกล้า , ชัยพฤกษ์ Westgate , บ้าน Villaggio 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ