
3 วิธีซ่อมลูกบิดประตู จัดการปัญหาเข้าบ้าน-ออกห้องไม่ได้ !
เหตุการณ์ลูกบิดประตูค้าง ลูกบิดประตูเสียจนกลายเป็นสาเหตุให้ถูกขังอยู่ภายในห้อง เป็นเรื่องอันตรายที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง แม้ปัญหาลูกบิดประตูชำรุดจะเป็นปัญหาที่ไม่ค่อยได้พบเจอกันสักเท่าไร แต่หากเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง ก็อาจสร้างความตื่นตระหนก และอาจจะมีอันตรายจนถึงชีวิตได้ ดังนั้นเราจึงขอแนะนำวิธีการซ่อมลูกปิดประตู เพื่อป้องกันและแก้ไขในสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ที่ไม่มีใครอยากเจอ
ลูกบิดประตูค้าง เกิดจากอะไร?
สาเหตุที่ลูกบิดประตูค้างเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น
การกระแทกจากการใช้งาน ทำให้ลูกบิดฝืด ปุ่มล็อกกดยาก หรือกดได้ไม่สุด
การติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ลิ้นลูกบิดไม่ล็อก หัวลูกบิดหลุด หรือลิ้นลูกบิดประตูค้าง
สภาพแวดล้อมรอบลูกบิด เช่น ความชื้นโดยรอบสูง ลูกบิดเป็นคราบจากสารเคมีที่ใช้ทำความสะอาด ทำให้เกิดสีถลอก การคลายตัวของสกรูภายในลูกบิด หรือหัวลูกบิดด้านในหมุนไม่ได้
ความเสื่อมตามอายุการใช้งาน เมื่อใช้งานไปนานๆ ย่อมทำให้เกิดการเสื่อมสภาพ ทำให้ลูกบิดหลวม ไม่พอดีกับประตู เป็นต้น
วิธีแก้ไขเบื้องต้นด้วยตัวเอง
ในกรณีที่ลูกบิดค้างติดอยู่ภายในห้องไม่สามารถออกมาได้ แต่ยังโชคดีที่พกโทรศัพท์เข้าไป สามารถโทรขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัว โทรติดต่อช่างซ่อมประตู หรือโทรหาเจ้าหน้าที่นิติบุคคลของคอนโดมิเนียม เพื่อเรียกช่างประจำคอนโดเข้ามาให้ความช่วยเหลือได้ หรือในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อใครได้ สามารถค้นวิธีแก้ล็อกประตูลูกบิดจากอินเทอร์เน็ตเพื่อช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้น
แต่กรณีที่เลวร้ายที่สุดมักเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้มีการเตรียมพร้อม โดยเฉพาะการเตรียมโทรศัพท์เข้าไป หากในห้องไม่มีช่องหน้าต่างหรือทางออกอื่น หรือไม่สามารถขอความช่วยเหลือด้วยการตะโกนได้ ให้ลองมองหาอุปกรณ์รอบตัว เช่น แท่งโลหะ การ์ด หรือแกนทิชชู่ สอดไปที่ช่องประตูลูกบิดแล้วทำการรูดขึ้น-ลงเพื่อดันให้ล็อกประตูคลาย
เพื่อเป็นการป้องกันและเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ลองมาดูวิธีการถอดลูกบิดจากด้านนอก ดังนี้
วิธีแทงรูบริเวณหัวลูกบิด ลูกบิดส่วนใหญ่จะแถมอุปกรณ์สำหรับแทงรูลูกบิดมาให้พร้อมกับตัวลูกบิด สามารถใช้อุปกรณ์นั้น ไขควงแบนเล็ก เหล็กเหลม หรือที่หนีบกระดาษ กดลงไปในรูลูกบิด พร้อมหมุนซ้ายขวาให้เข้าล็อก จากนั้นดึงหัวลูกบิดออก
การงัดฝาครอบลูกบิด
สามารถใช้ไขควงหรือโลหะลักษณะแบนที่มีความแข็งแรง งัดบริเวณฝาครอบลูกบิด หรือหมุนเกลียวฝาครอบลูกบิดออก เมื่องัดออกแล้วด้านในจะมีน็อตตัวแบนที่ยึดประตูกับลูกบิดไว้ ให้ดันน็อตออกมา ถอดแป้นยึด ดันลูกบิดเข้าไปด้านในให้ลูกบิดหลุดออกจากประตู แล้วดึงเดือยเหล็กที่ล็อกประตูอยู่เข้ามาที่ตรงกลางของรู เพื่อปลดล็อกประตูออกมาได้
การปลดล็อกลูกบิดกลม
ให้ดูปุ่มล็อกจากด้านใน หากเป็นแบบนูนสามารถใช้มือจับปุ่มล็อกแล้วกดลงไปให้ปุ่มหมุนขึ้น แต่หากเป็นปุ่มล็อกแบบร่องตรงกลาง ให้ใช้นิ้วโแ้งกดลงไปแน่นๆ บริเวณกลางร่อง แล้วหมุนปุ่มล็อกขึ้น
การปลดล็อกลูกบิดแบบด้านโยก
สามารถใช้บัตรเครดิตหรือบัตรที่มีความแข็งพอประมาณ สอดเข้าไปในร่องขอบประตู แล้วดันขึ้น-ลงพร้อมขยับมือก้านโยก ให้ตัวล็อกหลุดออกจากประตู
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกบิดประตูค้าง
ตรวจเช็กสภาพลูกบิดเป็นประจำ
ควรหยอดน้ำมันบริเวณช่องเสียบกุญแจ หรือบริเวณที่จับบ่อยๆ เช่น สลักเดือย เพื่อช่วยป้องกันการเกิดสนิมและการฝืดเคือง
ดูแลรักษาไม่ให้ลูกบิดเปียก
ความชื้นเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสนิมในภายหลัง ดังนั้นหากพบว่ามีความชื้นหรือน้ำเกาะบริเวณลูกบิด ควรเช็ดทำความสะอาดให้แห้งในทันที
เปลี่ยนไปใช้กลอนสลัก
ประตูแบบกลอนสลักจะเหมาะสำหรับการใช้เป็นประตูห้องน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความชื้นสูง อีกทั้งยังมีกลไกที่ไม่ซับซ้อนเหมือนลูกบิดธรรมดา เพียงแค่โยกก็สามารถเปิดปิดได้ ทำให้ไม่มีอะไหล่หรืออุปกรณ์ที่ต้องกังวลมากนัก และยังสามารถเปิดกลอนสลักได้ง่ายกว่าในกรณีฉุกเฉินอีกด้วย
แม้ความเสี่ยงจากลูกบิดค้างจนต้องติดอยู่ภายในห้อง อาจจะไม่ใช่ความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยๆ แต่จะดีกว่าไหมถ้าหากสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ตั้งแต่ต้น เช่น ไม่จำเป็นต้องปิดประตูห้องน้ำให้สนิทหรือล็อกประตูหากอยู่คนเดียว หรือพกโทรศัพท์ติดตัวไว้เสมอ เพื่อเตรียมรับเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด ซึ่งนอกจากเรื่องของลูกบิดแล้วยังมีเรื่องของประตูหน้าต่างที่ต้องใส่ใจด้วยเช่นกัน
อ่าน LH Living Tips & Living Concepts ดีๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่ : https://www.lh.co.th/th/lh-living-concept/living
ขอบคุณภาพประกอบจากโครงการบ้านชัยพฤกษ์